|
ประวัติข้อมูลพื้นฐาน
ประวัติความเป็นมาของตำบลพงษ์
เมืองพงษ์ เดิมชื่อว่า เมืองโพง ตามคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่สืบทอดมาหลายอายุคน คำว่า โพง ได้ชื่อมาจากวัวป่าตัวหนึ่งที่ดุร้าย ต้นทางออกจากป่าในเขตเมืองอุตรดิตถ์ อาละวาดขึ้นมาทางเหนือ ดั้นด้นผ่าป่า ภูเขา ลำห้วย จนถึงเมืองของเราเป็นแห่งสุดท้ายปลายทาง ถึงวาระสุดท้ายก็ตายที่เมืองของเรานี้ ก็คือเขตอำเภอสันติสุขในปัจจุบัน รายละเอียดแนวเส้นทางของวัวผี ตั้งแต่ออกจากป่าเมืองอุตรดิตถ์ถึงเมืองพงษ์ได้เขียนไว้ในเล่าเรื่องวัวโพงอย่างละเอียดแล้ว วัวป่าที่กลายเป็นโพงตัวดังกล่าวได้มาอาศัยอยู่ป่าเขาลำห้วยหลายแห่ง และได้อาศัยอยู่ป่าขุนเขาลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้านได้แก่หมู่บ้านศรีนาม่าน บ้านพงษ์ บ้านหัวนา บ้านป่าแดด และบ้านดู่พงษ์ ไหลลงสู่ลำน้ำมวบ สมัยก่อนเรียกว่า ลำน้ำโพง เมื่ออยู่มานานหลายปีหลายสมัยได้เปลี่ยนคำว่า โพง เป็นพงษ์ เป็นชื่อลำน้ำพงษ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ วัวป่าตัวดังกล่าวดุร้ายมากเนื่องจากเป็นโพง คำว่าโพง คือผีชนิดหนึ่ง กล่าวกันว่าชอบกินเนื้อสด ๆ คาว ๆ ดังนั้น วัวโพงจึงหมายถึง วัวที่กินเนื้อเป็นอาหาร ไม่กินเฉพาะแต่หญ้าอย่างเดียว วัวโพงตัวดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนหวาดหวั่นแก่ชาวบ้าน จากความดุร้ายของวัวโพง ชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้นจึงปรึกษาหารือกัน เพื่อหาวิธีป้องกันและกำจัดมันหลายวิธีการ การป้องกันในหมู่บ้านต้องขุดหลุมหลบภัย วิธีกำจัด จึงได้พร้อมใจกันขุดดินที่ป่ากลาง ขุดเป็นร่องเหมือนกับร่องเหมืองเรียงกัน แล้วเอาไม้ไผ่มาจักสานเป็นตารางเอามาวางบนปากร่องเหมืองแล้วเอาเศษใบไม้ไปปูบนตาราง เอาดินถมกลบให้เรียบ ให้เหมือนหน้าดินธรรมชาติและมีคูคันคล้ายเกาะอยู่ตรงกลาง ตามความมุ่งหมายที่หมู่บ้านทำอย่างนี้ เพื่อหวังว่าให้วัวโพงเดินผ่านไปตรงนั้น วัวโพงต้องหล่มลง ขาวัวต้องสอดลงตามตารางนั้นทุกขาจะกระโดดวิ่งไปไม่ได้ จะติดอยู่ที่นั้นเพื่อสะดวกแก่การฆ่า เช่น ยิง แทง ฟัน แต่แล้ววัวโพงตัวดังกล่าวไม่ผ่านไปตรงนั้น ร่องเหมืองดังกล่าวอยู่ระหว่างตรงกลางหมู่บ้านต้นผึ้ง และหนองผาเลอ และชาวบ้านชาวเมืองก็ได้ตั้งปางทำซุ้มเป็นที่อยู่ของหมอพรานปืน เพื่อดักยิงวัวโพง มีการตั้งทำซุ้มไว้ในป่าบนภูเขาลำห้วยหลายแห่ง แต่แล้ววัวโพงไม่ผ่านไปทางที่หมอพรานดักอยู่สักแห่งเลย หัวหน้าหมอพรานปืนในสมัยนั้นเล่าว่ามี 1 นายคำลือ 2. นายคำหล้า วัวโพงตัวที่ดังกล่าวเมื่อถึงวาระสุดท้ายก็มาตายอยู่หนองแห่งหนึ่งเพราะความเจ็บปวดทนพิษบาดแผลที่ถูกยิงไม่ไหว หนองที่วัวโพงตายนั้นได้ชื่อว่า หนองเหม็น มีชื่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ หนองเหม็นดังกล่าวอยู่ทางทิศเหนือของโรงพยาบาลสันติสุขไปไม่ไกลนักเมื่อถึงวาระสุดท้ายของวัวโพงตายแล้ว ชาวบ้านชาวเมืองสมัยนั้นจึงได้ตั้งชื่อเมืองแห่งนั้นว่า เมืองโพง เมื่ออยู่นานหลายปีหลายสมัยผ่านไป ได้เปลี่ยนคำ โพง เป็นพงษ์ ถึงปัจจุบันนี้
ตำบลพงษ์ เดิมขึ้นกับ อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ต่อมา อำเภอแม่จริมได้แยกตำบลพงษ์ออก ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะกระจุกอยู่กันตามสองข้างทางติดลำห้วยและแม่น้ำ บริเวณหุบเขา มีการติดต่อระหว่างหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ปัจจุบันมีหมู่บ้านในเขตการปกครองจำนวน 13 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ 1 บ้านป่าแดด หมู่ 2 บ้านศรีบุญเรือง หมู่ 3 บ้านนาเลา หมู่ 4 บ้านหนองใหม่ หมู่ 5 บ้านดอนใหม่ หมู่ 6 บ้านพงษ์ หมู่ 7 บ้านศรีนาม่าน หมู่ 8 บ้านดอนกลาง หมู่ 9 บ้านหัวนา หมู่ 10 บ้านดอนไพลวัลย์ หมู่ 11 บ้านราษฎร์ – รัฐพัฒนา หมู่ 12 บ้านปางช้าง และหมู่ 13 บ้านห้วยแฮ้ว
องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีผลบังคับเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก โดยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2540 ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 26 คน เป็นชาย จำนวน 21 คน หญิง จำนวน 5 คน และคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 2 คน และเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 1 คน หมู่บ้านที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 13 หมู่บ้าน ประกอบด้วย
หมู่ที่ 1 บ้านป่าแดด ประชากรส่วนหนึ่งมาจากอำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย อีกส่วนหนึ่งมาจากบ้านหัวนา น้ำปั้ว ม่วงแล้ง หมู่บ้านที่ได้ชื่อว่าบ้านป่าแดด ก็เพราะว่ามีประชากรส่วนมาจากบ้านป่าแดด จังหวัดเชียงราย มาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ก่อน พื้นที่เป็นที่ราบและมีลำน้ำไหลผ่าน
หมู่ที่ 2 บ้านศรีบุญเรือง ประชาชนได้อพยพมาจากบ้านหนองรัง บ้านน้ำครก อำเภอเมืองน่าน (กิ่งอำเภอภูเพียงปัจจุบัน) และบ้านหลับมืนพรวน อำเภอเวียงสา เดิมมีชื่อว่าหมู่บ้านก่าย ต่อมาถึงสมัยหนึ่งเป็นคำเพี้ยน เรียกว่า หมู่บ้านก้าย ตามผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังมี 3 เรื่อง เรื่องที่ 1 เมื่อชาวบ้านชาวเมืองกำลังวุ่นวายและพยายามจะฆ่าวัวโพง ชาวบ้านและหมอพรานปืนได้ตั้งปางทำซุ้มเป็นที่หมอพรานปืนอยู่ดักยิงวัวโพง แล้วหมอพรานปืนได้เอาอาวุธปืนก่ายพิงไว้ ด้านข้างจึงได้ชื่อว่า บ้านก่ายเพราะหมอพรานปืนเอาอาวุธปืนก่ายไว้ที่ฝา เรื่องที่ 2 ท่านเล่าว่าบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านส่วนมากมีต้นมะก้าย ต้นมะก้ายมีผลลักษณะเหมือนผลลิ้นจี่ภาษาเหนือเรียกว่า มะก้าย เรื่องที่ 3 ในช่วงปีหนึ่งชาวบ้านป่วยไข้ด้วยโรคระบาด ผู้คนล้มตายกันทั้งกลางวันและกลางคืน (ถิ่นนั้นเรียกกันว่า หามศพไปสุสาน ไม้คานหามก่ายกันไป) จึงได้ชื่อว่าบ้านก่าย จากนั้นหลวงพ่อครูบามงคล มังคโล จึงได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อวัดก่าย หรือก้าย เป็นวัดศรีบุญเรือง เมื่อ พ.ศ. 2477 ฉะนั้นชื่อหมู่บ้านและโรงเรียนก็เปลี่ยนไปตามจนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ 3 บ้านนาเลา เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ของตำบลพงษ์ มีประชากร อพยพมาจากบ้านกอกหนองรัง อำเภอเมืองน่าน (กิ่งอำเภอภูเพียงปัจจุบัน) และบ้านไผ่งามอำเภอเวียงสา แต่เดิมมี 11 หลังคาเรือน หมู่บ้านนาเลาเรียกตามชื่อลำห้วยเลา ซึ่งแต่เดิมบ้านนาเลาตั้งอยู่ริมลำน้ำมวบล้อมรอบทางทิศตะวันออก รอบไปทางเหนือ รอบไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านได้พากันย้ายหมู่บ้านข้ามลำน้ำมวบมาอยู่อีกฟากหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านเดิม ในปี พ.ศ. 2525 ติดกับถนนสายสันติสุข – แม่จริม
หมู่ที่ 4 บ้านหนองใหม่ เดิมเป็นหมู่บ้านห้วยผึ่งได้แยกมาจากบ้านห้วยแฮ้วและบ้านดู่พงษ์ มาตั้งอยู่ตามลำห้วยผึ่ง เพื่อมาอาศัยทำไร่ข้าวและเลี้ยงสัตว์ ที่มีชื่อว่าห้วยผึ่งเนื่องจากมีต้นไทรใหญ่และมีผึ่งมาอาศัยทำรังเป็นประจำทุกปี จึงเรียกชื่อตามลำห้วยและต้นผึ่งแต่ก่อนขึ้นอยู่กับบ้านห้วยแฮ้ว ต่อมาบ้านห้วยผึ่งหนองใหม่ ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2521 ตั้งชื่อเป็นหมู่บ้านหนองใหม่ มีนายจ๋อย หลวงดีเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ส่วนโรงเรียนบ้านห้วยแฮ้วตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2497
หมู่ที่ 5 หมู่บ้านดอนใหม่ เดิมมีชื่อว่า หมู่บ้านเก๊าตุ้ม ประชากรแยกมาจากบ้านดู่พงษ์ ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเก๊าตุ้มอยู่เป็นประจำเพื่อทำไร่ข้าว คำว่า เก๊าตุ้ม ตามผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า มีต้นไม้ตุ้มต้นใหญ่ต้นหนึ่ง อยู่กลางหมู่บ้าน จึงได้ชื่อว่าบ้านเก๊าตุ้ม เมื่ออยู่มานานหลายปี มีประชากรมากขึ้น มีหลายหลังคาเรือนมากขึ้นจึงขยายบ้านเรือนมาปลูกสร้างตามเส้นทางเดินเท้าสองข้างทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านจนถึงหมู่บ้านห้วยแฮ้ว พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราบทางทิศเหนือที่ขยายหมู่บ้านเป็นภูเขาทางทิศใต้มีลำน้ำมวบใหลผ่าน เมื่อมีประชากรมากขึ้นจึงได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2501 ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านดอนใหม่ มีนายแก้ว ไชยก๋าอินทร์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก บ้านเก๊าตุ้ม ดอนใหม่ บ้านห้วยแฮ้ว และบ้านห้วยผึ้งหนองใหม่ ก่อน พ.ศ. 2501 ทั้งสามหมู่บ้านนี้ขึ้นอยู่กับหมู่บ้านนาเลา
หมู่ที่ 6 หมู่บ้านพงษ์ เดิมหมู่บ้านพงษ์ขึ้นกับบ้านป่าแดดเพราะมีประชากรมากมายและหลายหลังคาเรือนได้แยกออกจากหมู่บ้านป่าแดดไปตั้งหมู่บ้านว่า หมู่บ้านพงษ์ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านมีลำน้ำพงษ์ไหลรอบหมู่บ้านทางทิศตะวันออก ล้อมรอบมาทางทิศเหนือของหมู่บ้าน
หมู่ที่ 7 หมู่บ้านศรีนาม่าน เดิมชื่อว่าบ้านนาม่าน ขึ้นอยู่กับหมู่บ้านศรีบุญเรืองพื้นที่ที่ตั้ง หมู่บ้านศรีนาม่านเดิมเป็นทุ่งนา เป็นหมู่บ้านของชาวพม่า สมัยนั้นฟากฝั่งลำน้ำพงษ์ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน บริเวณฟากฝั่งตะวันออกของวัดพงษ์ มีพื้นที่แห่งหนึ่งเป็นที่ราบเป็นสถานที่วัดร้างของชาวพม่าสมัยนั้น ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เมื่อชาวพม่าหนีออกจากพื้นที่แห่งนั้นแล้ว ชาวบ้านศรีบุญเรืองบางครอบครัวได้ยกครอบครัวออกจากบ้านศรีบุญเรืองไปตั้งบ้านเรือนอยู่พื้นที่ดังกล่าวอยู่เป็นประจำ ทำนาทำสวน อยู่นานเป็นเวลาหลายปี มีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520 ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านศรี ขึ้นหน้าหมู่บ้าน ว่าศรีนาม่าน สมัยนายเหลา กันเสน ตำแหน่งกำนันตำบลพงษ์ได้พิ่มชื่อหมู่บ้าน นายคำ ก๋าวงค์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก อารามที่พักสงฆ์ ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 และโรงเรียนตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2521
หมู่ที่ 8 หมู่บ้านดอนกลาง พื้นที่หมู่บ้านดอนกลางเป็นชาวเผ่าลัวะได้อพยพหนีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาจากน้ำแนะห้วยลอย ห้วยหาด อำเภอปัว ได้ย้ายมาอยู่เมื่อ พ.ศ. 2521 ขณะนั้น นายเหลา กันเสน ดำรงตำแหน่งกำนันพงษ์ ได้จัดสรรให้อยู่ และอีกส่วนหนึ่งก็แยกมาจากบ้านพงษ์ เดิมขึ้นอยู่กับบ้านพงษ์ หมู่ที่ 6 ต่อมาก็ได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเป็นหมู่ที่ 8 เรียกชื่อว่าบ้านดอนกลาง เพราะที่นั้นเป็นที่ดอน จึงตั้งชื่อว่าบ้านดอนกลาง จัดตั้งเมื่อพ.ศ. 2529 ขณะนั้นนายแสวง สวนใจ ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลพงษ์
หมู่ที่ 9 หมู่บ้านหัวนา เดิมขึ้นอยู่กับบ้านป่าแดด เมื่อมีประชากร หลายหลังคาเรือน อยู่ติด ๆ กันอย่างแออัด จึงได้ขยายบ้านเรือนตั้งเรียงขึ้นไปทางทิศตะวันออกล้อมรอบทุ่นนาไปทางทิศตะวันออก ต่อมาได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นหมู่ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2530 ในสมัยของนายแสวง สวนใจ กำนันตำบลพงษ์ขณะนั้น ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านหัวนา คำว่าหัวนาได้ตั้งเป็นบ้านเรือนตั้งแต่ทางทิศใต้ล้อมรอบไปทางทิศตะวันออกของทุ่งนา ประชากรแบ่งจากหมู่บ้านขยายขึ้นไปต่อ เมื่อ พ.ศ. 2530 นายณรงค์ อินนา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลพงษ์ เมื่อ พ.ศ. 2534
หมู่ที่ 10 บ้านดอนไพรวัลย์ พื้นที่ตั้งหมู่บ้านเป็นเนินเขา ประชากรมาจากหลายที่หลายแห่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง มารวมกันได้รับอนุญาตตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2538 นายชัยวิทย์ แซ่ว่าง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
หมู่ที่ 11 บ้านราษฎร์- รัฐพัฒนา พื้นที่ตั้งหมู่บ้านเป็นพื้นที่เนินเขา ประชากรมา จากหลายที่หลายแห่ง เป็นชาวไทยภูเขา เผ่าลัวะมาอยู่รวมกันแล้วได้รับอนุญาตจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านราษฎร์-รัฐพัฒนา มีนายวัตร วงตาผา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
หมู่ที่ 12 บ้านปางช้าง พื้นที่ตั้งหมู่บ้านเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอนและตั้งหมู่บ้านอยู่ตามสองฝั่งลำน้ำตวาย ประชากรอพยพมาจากบ้านปางกบใต้ อ.ปัว จ.น่าน (ปัจจุบันได้ขึ้นอยู่กับอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน)เมื่อ พ.ศ.2538 และอีกส่วนหนึ่งย้ายมาจากฐานแสงเพ็ญตำบลฝายแก้ว ในขณะนั้นนายเหลา กันเสน ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลพงษ์ ได้ไปรับมาจากฐานแสงเพ็ญให้ไปอยู่บ้านดอนไพลวัลย์ ได้ 3 เดือน เห็นว่าที่ทำมาหากินไม่สะดวก นายเหลา กันเสน จึงได้จัดที่อยู่ให้ใหม่ที่ปางช้าง เพราะที่ตั้งหมู่บ้านเป็นปางช้างเก่าของพ่อเลี้ยงตา คนจังหวัดแพร่มาทำไม้ และได้ตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อพ.ศ. 2538 โดยมีนายซ๊ะ แซ่โซ้ง นายเล่าซัว แซ่โซ้ง และนายเชื้อทาย แซ่โซ้งเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ มีอาชีพ ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ รับจ้างปลูกป่าของกรมป่าไม้และปักผ้าจำหน่าย
หมู่ที่ 13 บ้านห้วยแฮ้ว เป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นมาพร้อมกับบ้านดอนใหม่ บ้านห้วยผึ่ง (บ้านหนองใหม่ ปัจจุปัน) ประชากรส่วนใหญ่ย้ายมาจากบ้านดู่พงษ์ เพื่อมาทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ เดิมทีขึ้นอยู่กับบ้านหนองใหม่ หมู่ที่ 4 และได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็นบ้านห้วยแฮ้ว หมู่ที่ 13 เมื่อ พ.ศ. 2544 คำว่า ห้วยแฮ้วตามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าสมัยกำลังวุ่นวาย หาวิธีฆ่าวัวโพง ชาวบ้านและหมอพรานปืนได้ใช้แฮ้ว คือใช้เชือกมาขอดเป็นบ่วงแฮ้ว แล้วก็กางดักไว้ในป่าติดกับลำห้วย เพื่อให้วัวโพงไปติดบ่วงแฮ้วนั้น แต่แล้ววัวโพงตัวดังกล่าวไม่ได้ไปตรงนั้น ลำห้วยแห่งนั้นได้ชื่อว่าห้วยแฮ้ว
ประชากรแบ่งตามภาษาพูดในตำบลพงษ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบันนี้ แบ่งได้ 4 ภาษา คือ 1 คนในพื้นเมือง ซึ่งใช้คำเมือง 2. คนลาวใช้ภาษาลาวของเมืองหลวงพระบาง 3. คนลั้วะใช้ภาษาลั้วะ 4. คนม้งพูดภาษาม้ง